วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

การเลี้ยงนกซันคอนัวร์










ปัจจุบันการเลี้ยงลูกป้อนถือว่าได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะจากผู้เลี้ยงนกมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงมาก่อน ทั้งนี้เพราะเห็นความน่ารักและความเชื่อง จึงเกิดความหลงใหล สนใจและอยากซื้อมาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนเล่น เพื่อความสวยงาม ทั้งที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงการจัดการมากนัก จึงมีคำถามมากมายหลังจากนำเข้ามาเลี้ยง





อุปกรณ์ที่จำเป็นมีอะไรบ้าง

ประกอบด้วย

1. ภาชนะสำหรับเลี้ยงดูที่ดีและเหมาะสมควรเป็นตระกร้า เพราะนอกจากสามารถเลี้ยงลูกนกได้ดี ยังสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้สะดวก ควรเลือกขนาดที่เหมาะสมกับชนิดนก เพื่อง่ายต่อการจัดการ

2. วัสดุรองพื้น เช่น ขี้เลื่อย หรือหญ้าแห้ง โดยนำไปปูไว้ที่พื้นตระกร้าความหนา 1-2 นิ้ว เพื่อลดการกระทบกระเทือนให้กับลูกนก ซึ่งต้องมีการดูแลเปลี่ยนใหม่ทุก 2-3 วัน หรือทุกครั้งที่เห็นว่าเกิดความชื้นหมักหมม

3. อุปกรณ์สำหรับป้อนอาหาร เช่น ไซริงค์ หรือ ช้อนป้อน จะเลือกแบบไหนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้เลี้ยงต้องการป้อนแบบไหน หากต้องการความรวดเร็วในการป้อน ต้องป้อนนกหลายตัว และไม่ให้นกสกปรกเปื้อนอาหาร การเลือกใช้ไซริงค์เหมาะสมกว่า เพราะสามารถป้อนลูกนกได้ครั้งละปริมาณมาก ส่วนการใช้ช้อนป้อนต้องใช้เวลา แต่จะทำให้ผู้เลี้ยงนกคุ้นเคยและใกล้ชิดกับลูกนกมากขึ้น ไม่ทำให้ลูกนกเกิดความระคายเคืองในระหว่างการป้อน ทำให้ลูกนกได้สัมผัสกับรสชาติของอาหาร แต่ไม่เหมาะกับการเลี้ยงนกจำนวนมาก

4. อาหารสำหรับลูกนก นกลูกป้อนต้องกินอาหารเหลว ส่วนใหญ่เป็นผงต้องนำมาผสมกับน้ำอุ่นและรอให้เย็นและนำมาเลี้ยงนก โดยอาหารลูกป้อนมีหลายชนิดให้เลือกมีทั้งที่ผลิตในเมืองไทย และมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยราคาและคุณภาพแตกต่างกันไป

5. ยารักษาโรค ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการเลี้ยงสัตว์ เพราะลูกนกที่นำมาเลี้ยงตั้งแต่เล็กค่อนข้างอ่อนแอ ภูมิคุ้มโรคค่อนข้างต่ำ สามารถเกิดปัญหาหรือป่วยได้ตลอดเวลาหากจัดการผิดพลาด การใช้ยาป้องกันได้ทันเวลาจะลดความเสียหายได้



เริ่มต้นเลี้ยงลูกป้อนควรเลือกนกชนิดไหนดี

ควรเลือกชนิดนกที่ชอบ จะมีความเหมาะสมกว่า เพื่อให้การทุ่มเทดูแลใส่ใจ ด้านการเลี้ยงเป็นไปอย่างเต็มที่ เพราะเป็นนกที่ชอบและต้องการเลี้ยง คิดว่าทุกคนจะพยายามเลี้ยงให้ดีที่สุด แต่หากนกที่ชอบและอยากเลี้ยง เป็นนกที่ดูแลค่อนข้างยากกว่า และราคาค่าตัวสูงกว่า การตัดสินใจนำเข้าไปเลี้ยงควรศึกษารายละเอียดให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง และมีความมั่นใจว่าจะเลี้ยงรอดก่อนนำเข้าไปเลี้ยง หรือไม่เช่นนั้นก็ควรหานกชนิดอื่นๆที่เกรดรองลงมาทดลองเลี้ยงไปก่อน แล้วค่อยพัฒนาไปเลี้ยงนกที่ชื่นชอบอย่างแท้จริง



อาหารลูกป้อนแบรนด์ไหนดีที่สุด

อาหารลูกป้อนในท้องตลาดมีหลายแบรนด์ มีทั้งที่ผลิตในเมืองไทยและสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยคุณภาพและราคาแตกต่างกันออกไป การเลือกใช้ต้องพิจารณาอย่างดีจากหลายส่วนประกอบกัน เช่น ส่วนประกอบในสูตรต้องสอดคล้องกับความต้องการของนก การย่อยได้และดูดซึมของนกทำได้ดี วิธีใช้ต้องสะดวกไม่ยุ่งยาก ความน่าใช้มีสูง

“การเลือกใช้อาหารนกลูกป้อนของผู้เลี้ยง ส่วนใหญ่ทำตามคำแนะนำของผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งผู้ที่มีประสบการณ์นั้น ส่วนใหญ่ก็มีข้อมูลเพียงแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเท่านั้น คือแบรนด์ที่ใช้มาตั้งแต่ในอดีตและมีการใช้เรื่อยมา ในขณะที่ปัจจุบันมีอาหารลูกป้อนแบรนด์ใหม่ออกมา แต่ไม่มีโอกาสรับรู้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในจุดนี้ จึงไม่มีข้อมูลที่มีคุณภาพเพียงพอ ผู้เลี้ยงจึงต้องหาข้อมูลในเชิงลึกเองด้วย”

อาหารนกลูกป้อนคุณภาพที่ดีนั้นควรมีคุณสมบัติดังนี้ มีสารอาหารครบถ้วนสอดคล้องกับความต้องการของนกและโภชนะในสูตรอาหารจะต้องมีความสมดุลเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ สามารถใช้ได้กับลูกนกแรกเกิดไปจนถึงโตเต็มวัย ไม่มีปัญหาการย่อยได้ ลูกนกสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายและมีสุขภาพที่ดี มีความน่าใช้สูง เช่น มีกลิ่นหอม รูปลักษณ์ดี เป็นต้น



นกลูกป้อนเลี้ยงยากหรือเปล่า

การเลี้ยงนกลูกป้อนไม่ยาก แต่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้เลี้ยงที่มีเวลาพร้อมกับมีการศึกษาวิธีเลี้ยงที่ถูกต้อง และเลือกขนาดและอายุของนกที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นเลี้ยง โอกาสประสบความสำเร็จในการเลี้ยงมีสูง



การผสมอาหารทำอย่างไร

อาหารลูกป้อนที่มีอยู่ในท้องตลาดแต่ละชนิดมีวิธีการใช้ต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นผง มีความหอมและความน่าใช้ต่างกัน การใช้ต้องผสมน้ำ บางชนิดต้องผสมน้ำร้อนจัด บางชนิดสามารถผสมน้ำอุ่นก็ใช้ได้ทันที อัตราส่วนการผสมระหว่างน้ำและอาหารขึ้นอยู่กับอายุนก นกที่อายุน้อยหรือนกแรกเกิดควรใช้น้ำ 5-6 ส่วนต่ออาหาร 1 ส่วน ส่วนนกที่เริ่มโตอัตราส่วนที่เหมาะสมคืออาหาร 1 ส่วนต่อน้ำ 2-3 ส่วน การผสมใช้ช้อนคนไปมาเพื่อให้อาหารและน้ำเข้ากันเป็นเนื้อเดียว ก่อนนำไปป้อนลูกนก

“อาหารที่ได้รับการผสมอย่างถูกต้องและพร้อมที่จะนำไปป้อนลูกนก จะต้องเนียนเข้ากันเป็นเนื้อเดียว ไม่พบอาหารจับตัวเป็นก้อน และที่สำคัญอาหารจะต้องไม่ข้นหรือเหลวจนเกินไป เพื่อให้อยู่ในสภาพที่ร่างกายนกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลถึงการเติบโตและสุขภาพที่ดีของนกสวยงาม”



วิธีการป้อนแบบไหนเหมาะสมกว่า

การป้อนอาหารลูกนกสามารถทำได้สองแบบ คือการป้อนด้วยไซริงค์และการป้อนด้วยช้อน ซึ่งแต่ละวิธีมีความเหมาะสมกับสภาพการที่แตกต่างกัน

การป้อนด้วยไซริงค์มีข้อดีคือ สามารถทำได้รวดเร็ว และป้อนอาหารได้ตามปริมาณที่ต้อง ไม่สกปรก เหมาะกับการป้อนลูกนกเป็นจำนวนมาก แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดคือ การป้อนจะต้องแหย่ไส้ไก่ลงไปในหลอดอาหาร ซึ่งจะต้องทำอย่างนุ่มนวล เพื่อลดการระคายเคือง ซึ่งผู้เลี้ยงบางรายใจไม่ถึงพอ จึงเป็นข้อจำกัด

การป้อนด้วยช้อน เป็นวิธีการที่ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการป้อนอาหารลูกนก เพราะเพียงแต่ใช้ช้อนตักอาหารลูกป้อน ค่อยๆป้อนลูกนกจนกว่าอาหารจะเต็มกระเพาะพัก นกที่มีการตอบสนองที่ดีการป้อนจะง่ายมาก แต่การป้อนจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆป้อนทีละช้อน ลูกนกได้สัมผัสกับรสชาติของอาหาร และค่อยๆกลืนลงไป ซึ่งต้องใช้เวลามาก และมีโอกาสทำให้ลูกนกเปื้อนอาหาร หากจัดการไม่ดี เหมาะกับการเลี้ยงลูกนกจำนวนไม่มาก



นกลูกป้อนต้องให้น้ำหรือไม่

นกลูกป้อนที่อายุยังน้อยหรือยังต้องป้อนอาหารให้อย่างต่อเนื่อง น้ำสะอาดยังไม่มีความจำเป็นต้องให้ เพราะลูกนกได้รับไปพร้อมกับอาหารเหลวที่ป้อนให้ไปเป็นลำดับแล้ว เว้นแต่กรณีที่นกเริ่มโตใกล้กินอาหารเองได้ และมีการลดจำนวนมื้อในการป้อนอาหารลงไปเหลือวันละ 1-2 มื้อ ควรจัดน้ำสะอาดใส่ถ้วยไว้ เพื่อลดปัญหาการขาดน้ำ



ควรป้อนอาหารวันละกี่มื้อ

จำนวนมื้อในการป้อนอาหารลูกนกขึ้นอยู่กับอายุของนก โดยนกที่ออกจากไข่ถึงอายุ 1 สัปดาห์ การป้อนต้องบ่อยครั้ง หรือป้อนทุก 2 ชั่วโมง , ลูกนกอายุ 1 สัปดาห์ – อายุ 1 เดือน ควรป้อน 3-4 ชั่วโมงต่อครั้ง , ลูกนกอายุ 1-2 เดือน ควรป้อนทุก 4-5 ชั่วโมง ลูกนกอายุ 3 เดือน ควรลดเหลือ 1-2 มื้อและเลิกป้อนไปในที่สุดเมื่อนกกินอาหารเองได้

จำนวนมื้อในการป้อนอาหาร นอกจากจะขึ้นอยู่กับอายุของนก ยังขึ้นอยู่กับชนิดของนก การจัดการผสมอาหารว่ามีความเข้มข้นขนาดไหน และยังขึ้นอยู่กับขนาดกระเพาะพักของนกแต่ละชนิดซึ่งมีขนาดที่แตกต่างกันสามารถจุอาหารได้ไม่เท่ากัน ซึ่งผู้เลี้ยงควรนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาร่วมกันกับข้อมูลพื้นฐานที่ควรจะเป็นข้างต้น





ปริมาณอาหารที่ป้อนต่อมื้อ

ปริมาณอาหารที่ป้อนต่อมื้อ จะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของนก เพราะโครงสร้างของร่างกายแตกต่างกัน จึงไม่สามารถกำหนดปริมาณออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ ที่สามารถแนะนำได้คือ ปริมาณที่ป้อนแต่ละมื้อไม่แน่นกระเพาะเกินไป คือไม่ทำให้กระเพาะพักตึงบวมมาก ยังพอมีที่ว่างในกระเพาะอยู่บ้าง จะทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยและดูดซึมอาหารของลูกนกดีกว่า

“การป้อนอาหารลูกนกบางคนให้มากเกินไป ป้อนจนเต็มกระเพาะจะพบปัญหาตามมาเสมอคืออาหารไม่ย่อย หรือย่อยไม่หมด และเกิดปัญหาการสูญเสียตามมาจากการติดเชื้อ การป้อนอาหารที่น้อยเกินไปก็สร้างปัญหาเช่นกัน เพราะนกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้การเติบโตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”



เลี้ยงนกในห้องแอร์ได้หรือเปล่า

นกลูกป้อนสามารถนำไปเลี้ยงในห้องปรับอากาศได้ สำหรับลูกนกที่เริ่มโตและมีขนขึ้นปกคลุมร่างการแล้ว หากลูกนกยังเล็กขนยังไม่ขึ้นควรหลีกเลี่ยง เพราะอากาศที่เย็นจะส่งผลกระทบกับสุขภาพ ทำให้ประสิทธิภาพการย่อยอาหารลดลง ลดความกระตือรือร้นลง เพราะสภาพอากาศที่ลูกนกต้องการคือ อากาศที่ค่อนข้างอบอุ่นไปจนถึงร้อน

อย่างไรก็ดีหากผู้เลี้ยงมีความจำเป็นต้องนำไปเลี้ยงในห้องปรับอากาศ ควรเลี้ยงอยู่ในกล่องกระดาษหรือตระกร้าที่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้อบอุ่นอยู่เสมอได้ เพื่อป้องกันความเสียหาย



อาบน้ำให้ได้หรือไม่

นกลูกป้อนมีขนาดเล็ก ค่อนข้างอ่อนแอ ไวต่อความเสียหาย ต้องการอากาศที่อบอุ่นเป็นพิเศษ กรอาบน้ำควรหลีกเลี่ยง แม้ว่าบริเวณร่างกายจะมีคราบสกปรกจากอาหารและมูลบ้างก็ตาม ควรหาทางป้องกันสิ่งสกปรกไม่ให้ปนเปื้อนจะดีกว่า ด้วยการดูแลความสะอาดของวัสดุรองพื้น พร้อมกับระมัดระวังด้านการป้อนอาหาร หรือไม่เช่นนั้นหากสกปรกมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ด เพื่อบรรเทาความสกปรกลง



เมื่อไรถึงเลิกป้อน


นกแต่ละชนิดใช้เวลาในการป้อนอาหารแตกต่างกันออกไป สิ่งที่สามารถส่งสัญญาณได้ว่าควรเลิกป้อนอาหารลูกนก หรือลดปริมาณอาหารป้อนลงคือ ลูกนกขนขึ้นปกคลุมร่างกายเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ทั้งขนปีก ขนหาง ขนบริเวณหน้าอก ลูกนกกินอาหารป้อนน้อยลง หรือเริ่มมีการต่อต้านการป้อน ลูกนกเริ่มหัดกระพือปีกบิน ลูกนกเริ่มหัดจิกกินหาอาหารเอง เมื่อเห็นสัญญาณเหล่านี้ผู้เลี้ยงควรจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสียหาย

“นกลูกป้อนที่โตเต็มที่แล้ว หากไม่มีการเลิกหรือลดอาหาร จะสร้างปัญหาและภาระให้กับผู้เลี้ยงตามมา เช่น นกจะกินอาหารเองไม่เป็น ต้องคอยป้อนเรื่อยไป และป้อนอาหารจำนวนมากไม่ได้มีการลดตามขั้นตอนที่เหมาะสม มีความเสี่ยงสูงกับความเสียหายจากการติดเชื้อ ค่อยๆซึม อาหารไม่ย่อย และเสียหายในที่สุด ซึ่งพบได้เป็นระยะ”



เมื่อเลิกอาหารป้อนแล้วจะกินอะไรได้บ้าง

นกสวยงามส่วนใหญ่หลังจากเลิกอาหารป้อนแล้ว อาหารหลักที่จำเป็นคือกลุ่มของเมล็ดธัญพืชและผลไม้ เช่น ถั่ว เมล็ดทานตะวัน มิลเลต ข้าวไลน์ ข้าวโพดสด ฝรั่ง แอปเปิ้ล เป็นต้น พร้อมกับมีการเสริมวิตามินและแร่ธาตุให้เป็นระยะ เพื่อให้ได้สารอาหารอย่างครบถ้วน และเติบโตเป็นนกใหญ่ที่มีคุณภาพดีพร้อมให้ผลผลิตต่อไปในอนาคต

“อาหารนกสวยงามควรเลือกที่มีคุณภาพดี และเป็นอาหารผสมที่มีหลากหลายชนิดเพื่อให้นกได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน การให้อาหารแบบซ้ำๆ เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพของนกแต่อย่างใดและต้องเสริมวิตามินและแร่ธาตุให้เป็นระยะ เพื่อให้นกได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลถึงสุขภาพที่ดีตามมา”



นกที่กินอาหารลูกป้อนควรเสริมวิตามินให้ไปหรือเปล่า

โดยปกติอาหารลูกป้อนพรีเมี่ยมเกรด จะประกอบไปด้วยโภชนะที่จำเป็นกับนกสวยงามอย่างครบถ้วนเพียงพอที่จะทำให้ลูกนกเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ การใช้อาหารลูกป้อนพรีเมี่ยมเกรดจึงไม่จำเป็นต้องเสริมวิตามินให้แต่อย่างใด แต่เนื่องจากอาหารนกลูกป้อนบางแบรนด์วิธีการใช้ต้องผสมกับน้ำร้อนจัด เพื่อให้อาหารอยู่ในสภาพที่ลูกนกนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงมีโอกาสทำให้วิตามินและสารอาหารบางส่วนถูกทำลายไป ความจำเป็นในการเสริมวิตามินให้ไปจึงมีมากกว่า

“การเลือกใช้อาหารลูกป้อนพรีเมี่ยมเกรด ที่มีสารอาหารครบถ้วนสอดคล้องกับความต้องการ ในขณะที่วิธีการใช้ทำได้ง่ายผสมกับน้ำอุ่นก็สามารถใช้ได้ โดยที่คุณค่าทางอาหารที่มีอยู่ในสูตรยังครบถ้วน ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ต้องจัดการที่ยุ่งยากในการเสริมวิตามินให้ไป เป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงสามารถเลือกได้ หากมีการศึกษาข้อมูลในเชิงลึกอย่างชัดเจน”



เลี้ยงลูกนกต้องใช้ยารักษาโรคหรือเปล่า

การเลี้ยงนกลูกป้อน หากสามารถจัดการดูแลได้อย่างสมบูรณ์แบบ สามารถทำให้ลูกนกมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคสูง ความจำเป็นในการใช้ยารักษาโรคย่อมมีน้อย แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้วผู้เลี้ยงไม่สามารถดูแลลูกนกได้อย่างดีทุกขั้นตอนการเลี้ยง ความเสี่ยงในการเกิดปัญหากับลูกนกย่อมมีเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นต้องมียารักษาโรคเพื่อลดความเสียหาย

“พบปัญหาเสมอสำหรับผู้เลี้ยงนกลูกป้อน โดยเฉพาะมือใหม่ ที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญการเลี้ยงลูกนก ทำให้การจัดการผิดพลาดลูกนกป่วย ไม่มีทางออก ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ทำให้ปัญหารุกลามเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่หากมียารักษาโรคติดไว้ และให้ตามคำแนะนำ จะลดปัญหาจากหนักเป็นเบาได้”



ลูกนกอ้วกและขย้อนอาหารเป็นเพราะอะไร

การอ้วกหรือขย้อนอาหารของลูกนกเกิดได้หลายสาเหตุ ประกอบด้วย เกิดจากอาการป่วยติดเชื้อในกระเพาะอาหาร ป้อนอาหารมากเกินไป ป้อนอาหารร้อนเกินไป ป้อนอาหารเย็นเกินไป ลูกนกโตเต็มที่พยายามที่จะหัดกินอาหารเอง ผู้เลี้ยงจะต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าปัญหาเกิดจากส่วนไหน พร้อมทั้งหาทางแก้ไขจะสามารถลดปัญหาได้ ในกรณีที่มีการติดเชื้อจะต้องมีการใช้ยารักษาโรคแก้ปัญหา ซึ่งควรขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์หรือสัตวแพทย์



ทำไมนกลูกป้อนไม่ยอมกินอาหารเอง

การที่นกลูกป้อนไม่ยอมกินอาหารเอง ทั้งที่อายุได้ตามกำหนด และโตเต็มที่แล้ว ทั้งนี้เกิดมาจากความเคยชินในการป้อนลูกนกของผู้เลี้ยงที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีมาตรการลด หรืออดอาหาร ไม่เคยทำให้ลูกนกรู้สึกหิว เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ทำให้ความกระตือรือร้นเพื่อช่วยตัวเอง กินอาหารเองมีน้อยลง เพราะรู้ว่าเมื่อถึงเวลา หรือร้องเสียงดังๆก็จะมีคนใจดีคอยป้อนให้ ทำให้นกกินอาหารเองไม่เป็น

การจะทำให้นกลูกป้อนกินอาหาร เมื่อลูกนกอายุได้ตามกำหนด หากไม่ทราบอายุให้สังเกตลักษณะภายนอก คือ ขนขึ้นเต็มตัวทั้งขนปีก หน้าอก หาง พร้อมทั้งดูกริยาท่าทางคือ ชอบจิกกัดสิ่งของรอบข้าง เริ่มกินอาหารป้อนน้อยลง ให้ผู้เลี้ยงเริ่มนำเมล็ดธัญพืชหรือ ข้าวโพดสด เพื่อให้ลูกนกหัดกิน พร้อมกับลดปริมาณอาหารต่อมื้อลงเช่น จากมื้อละ 10 ซีซี เหลือเพียง 5 ซีซี จำนวนมื้อที่ป้อนจากวันละ 3 มื้อ เหลือ 2 มื้อ และเหลือ 1 มื้อ เป็นลำดับ เพื่อให้ลูกนกรู้สึกหิวและกินอาหาร นกจะค่อยๆกินอาหารเองได้ และเลิกป้อนไปในที่สุด





ลักษณะการแสดงอาการป่วยของนกที่ผู้เลี้ยงนกควรทราบและควรรีบทำการรักษา

โดยสามารถแบ่งการสังเกตอาการเป็นกลุ่มๆดังนี้คือ

1.ดวงตา ได้แก่ ดวงตาไม่กลม-ใส เนื้อเยื่อรอบขอบตาบวมมีน้ำ ขอบตาอักเสบ ตาแดง ตาแฉะ ไซนัสบวมนัยน์ตาอักเสบ มักเป็นข้างเดียว ตาบอด

2.จมูก ได้แก่ รูจมูกตัน บวมแดง มีน้ำมูก

3.ปาก ได้แก่ มีสีดำคล้ำ อ้างปากค้าง หางกระตุก หายใจหอบ มีน้ำลายเหนียว หายใจแบบเสียงกรน ไอ จาม

4.คอ ได้แก่ คอบิด คอสั่น คอแข็ง คอตก นอนหมอบ

5.ลำตัว ได้แก่ ตัวสั่น-กล้ามเนื้อกระตุก ตัวสั่น ผอม โตช้า ตัวร้อน ตัวเย็น

6.ก้น ได้แก่ ก้นแฉะ อุจจาระติดก้น

7.ขน ได้แก่ ขนยุ่ง ขนฟู

8.การยืน ได้แก่ ยืนหลับนานๆ ปีกตก หงอย ซึม

9.การกินอาหาร ได้แก่ ไม่กินอาหาร กินอาหารน้อยลง(ยกเว้น นกเข้าสู่วัยหัดบิน ซึ่งมีการปรับน้ำหนักตัว เพื่อให้ตัวเบา) สำรอกอาหาร

10. อุจจาระ ได้แก่ มีกลิ่นเหม็น อุจจาระเขียว(ยกเว้นนกที่กินอาหารเมล็ดธัญพืช) สีขาวหรือน้ำตาลปนเขียว ดำ เป็นเจล ไม่เป็นหลอด ปัสสาวะสีเขียวปนเหลือง ท้องเสีย ท้องเสียรุนแรง ถ่ายเป็นเมือก ถ่ายเป็นน้ำใสๆ ถ่ายเป็นน้ำสีเขียว


อาการทั้งหมดนี้เป็นการบ่งบอกว่านกของท่านอาจมีปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกต ตรวจตา หากพบควรรีบปรึกษาผู้รู้หรือนำนกของท่านไปพบสัตวแพทย์ทันที







อาหารสำหรับนกผลัดขน



ช่วงผลัดขน เป็นช่วงที่นกอ่อนแอและเสี่ยงอันตรายมากที่สุด เนื่องจาก นกต้องเสียพลังงานในการสร้างขนใหม่มาทดแทนขนเดิม แล้วยังจะบินได้ไม่แคล่วคล่องเช่นเดิม แล้วเราควรให้อาหารอะไรเพื่อให้นกที่ผลัดขนจะได้ไม่โทรม และสร้างขนใหม่มาแทนได้เร็วขึ้น



การผลัดขนของนกนั้นมีสาเหตุตามธรรมชาติหลายประการ เช่น เพื่อเปลี่ยนสีขนให้สวยงามขึ้นเพื่อดึงดูดตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ เพื่อให้ขนที่ใหญ่ขึ้นเหมาะกับการเจริญเติบโตของร่างกาย เพื่อสร้างขนใหม่ที่หนากว่าเดิมในการต่อสู้กับความหนาวเย็น ในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง



นกแต่ละสายพันธุ์มีการผลัดขนถี่บ่อยต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามการผลัดขนเป็นกลไกลการสร้างขนมาทดแทนขนที่เสื่อมสภาพไป โดยขนที่ผลัดเป็นขนอุย ดังนั้นนกบางชนิดจึงมีการผลัดขนตลอดทั้งปี จึงดูมีขนเต็มตัว แต่สามารถสังเกตได้จากการมีขนอุยตกหล่นอยู่ตามพื้นกรง



นกบางชนิดก็ผลัดขนปีละครั้ง บางชนิดผลัดปีละสองหรือสามครั้ง การผลัดขนเป็นผลมาจากการได้รับอิทธิพลมาจากแสงสว่าง ดังนั้นนกเมืองหนาวที่มาอยู่บ้านเราจึงมีการผลัดขนมากกว่าตนอยู่เมืองหนาว ฮอร์โมนเป็นปัจจัยที่คอยควบคุมการผลัดขนให้พอเหมาะ ไม่อย่างนั้นนกอาจขนร่วงจนหมดทั้งตัว



ขนที่ร่วงจากการผลัดขนนั้น จะมีลักษณะต่างไปจากขนที่ร่วงโดยโรค หรือการจิก ดึงทิ้งขน คือขนที่ร่วงจากการผลัดขนนั้นจะเป็นเส้นขนที่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่แตกหัก ขอบเรียบไม่หยัก สีซีดเท่ากันทั่วทั้งเส้นขน แต่ขนที่ร่วงจากโรคนั้น เส้นก้านขนมักหยิกงอ เส้นขนหัก ขาดแหว่ง ขอบขนหยัก สีเปลี่ยนเป็นเส้นๆริ้วๆ ไม่เสมอกันทั้งเส้น



หรือขนที่ร่วงจากการถูกนกจิกดึงทิ้ง ซึ่งอาจเกิดจากนกต่อสู้กันในกรณีที่เลี้ยงรวมกัน หรือเกิดจากการทิ้งขนตัวเองในนกแก้วหลายๆชนิดที่เป็นปัญหาทางพฤติกรรม หรือโรคเส้นขนและจงอยปากผิดปกติ (Psittacine Beak and Feature Disease) ที่เกิดจากเชื้อไวรัส



เส้นขนแต่ละเส้นนั้นประกอบขึ้นมาด้วย โปรตีน วิตามินบี 2 ไบโอติน โคลีนและแคลเซี่ยม เป็นส่วนประกอบหลักพร้อมทั้งการเสริมการทำงานในการสร้างเส้นขน จากกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ดังนั้นการขาดสารอาหารกลุ่มข้างต้น ก็นับว่าเป็นสาเหตุให้เกิดอาการขนร่วงได้เช่นกัน ปรสิตภายนอกเช่น ตัวไร ก็เป็นสาเหตุให้นกกัด จิก ดึง ทิ้งขนตัวเองทั้งเพราะอาการคันอย่างยิ่งยวด การที่นกผลัดขนจึงเป็นทั้งสัญญาณดีและร้าย



ดังนั้นการเสริมอาหารให้แก่นกช่วงผลัดขนจึงเป็นการให้ที่จำเป็น เพื่อให้นกมีความร้อนในร่างกาย เพื่อที่จะคงอุณหภูมิของร่างกายให้ดำเนินชีวิตอย่างปกติ เพราะการขาดขนทำให้นกสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายได้ง่ายกว่าช่วงที่มีขนปกคลุมร่างกายเต็มตัว มิหนำซ้ำยังต้องการสารอาหารและพลังงาน เพื่อไปสร้างเส้นขนใหม่ขึ้นมาทดแทน


อาหารที่เสริมให้นกช่วงที่กำลังผลัดขนนั้นเป็นไปอย่างไร เลือก พืช ผัก ผลไม้ หนอน แมลง ชนิดไหนจึงจะได้รับสารอาหารที่ต้องการมาคำนึงถึงแหล่งอาหารเป็นหลัก รวมถึงการที่นกกินเข้าไปแล้วย่อยง่ายหรือไม่ และร่างกายนกดูดซึมเอาไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ปัจจัยเหล่านี้ต้องคำนึงถึงให้มาก เพราะสารอาหารสำคัญกว่าส่วนประกอบของสารอาหาร



โปรตีน ไม่ใช่เพียงให้ปริมาณโปรตีนถึงตามที่นกต้องการ แต่ต้องดูลึกลงไปถึงชนิดของกรดอะมิโน ที่เป็นหน่วยย่อยของโปรตีนชนิดที่จำเป็นต่อการสร้างขนได้แก่ ไลซีน เมทไธโอนีน ซึ่งมีมากในเมล็ดถั่วต่างๆ และข้าว ข้าวโพดมีปริมาณกรดอะมิโนที่ต้องใช้ในการสร้างขนทั้งสองชนิดน้อยมาก ข้าวสาลีก็มีปริมาณของไลซีนน้อย อาหารที่แนะนำให้เสริมในช่วงสร้างขนนี้ก็คือไข่ เนื้อปลา เนื้อและเครื่องในสัตว์ปีก และถั่วเหลือง



วิตามินบี 2 มีมากในบรอคเคอรี่ ผักใบเขียวเข้มทั้งหลาย ยีสต์ที่ได้จากการหมักเหล้า เครื่องในสัตว์ทั้งหลาย และไข่



โคลีนเป็นวิตามินบีอีกชนิดหนึ่ง มีมากในไข่แดง เนื้อปลา ถั่วหรือเมล็ดพืชที่มีไขมันมากทั้งหลาย เช่น ทานตะวัน ถั่วลิสง



แคลเซี่ยม มีมากในกระหล่ำปลี เต้าหู้ บรอคเคอรี่ ปลาป่นทั้งตัว กระดูกป่น และหินปูน ปัจจุบันมีแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปเม็ดหรือผง เช่น ไดแคลเซี่ยมฟอสเฟต ที่สามารถซื้อมาผสมกับอาหารอื่นๆ ให้นกกินได้อย่างสะดวก แต่ต้องระวังเรื่องการให้มากหรือน้อยเกินไป ต้องอ่านดูว่า ชนิดและยี่ห้อที่เราซื้อมาให้นกนั้นวันหนึ่งต้องให้ปริมาณเท่าไรต่อน้ำหนักนกแต่ละตัว



การเสริมอาหารให้นกในช่วงผลัดขนนั้นก็ดูง่ายๆ ว่านกมีแนวโน้มที่กินอาหารชนิดไหนได้ดีและมีสารอาหารชนิดต่าง ที่ช่วยการสร้างขนครบถ้วนหรือไม่ แล้วก็เลือกตามหลักที่กล่าวมาแล้วข้างต้น